การดูแลรักษาอาการข้างเคียงหลังได้รับยาเคมีบำบัด

แบ่งปัน

ข้อมูลต่อไปนี้จะช่วยคุณในการดูแลรักษาอาการข้างเคียงจากการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด

ประเด็นสำคัญ
  • รับประทานยาตามคำแนะนำของแพทย์ ซึ่งได้แก่
    • ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน (ยาที่ช่วยยับยั้งไม่ให้คุณรู้สึกพะอืดพะอมเหมือนจะอาเจียน)
    • ยาช่วยขับถ่าย (อุจจาระ)
  • ดื่มเครื่องดื่มวันละ 8 ถึง 10 แก้ว (ขนาดประมาณ 237 มล.ต่อแก้ว) คุณต้องดื่มน้ำให้เพียงพออยู่เสมอในระหว่างการรักษา
  • โปรดติดต่อแพทย์ของคุณในกรณีต่อไปนี้:
    • มีไข้ 38 °C ขึ้นไป
    • มีอาการหนาวหรือสั่น
    • แสดงอาการติดเชื้อ เช่น
      • เจ็บคอ
      • อาการไอที่เกิดขึ้นใหม่
      • ปัสสาวะแสบขัด
      • รอยแดง บวม ร้อน หรือมีหนองบริเวณรอยผ่าตัดหรือสายสวน
    • อาการเจ็บปวดบริเวณปากที่ทำให้ยากต่อการกลืน รับประทาน หรือดื่ม
    • มีอาการคลื่นไส้ (ความรู้สึกพะอืดพะอมเหมือนจะอาเจียน) หรืออาเจียน (อ้วก) ที่ไม่หยุดหลังจากรับประทานยา
    • ท้องเสีย (ถ่ายเหลวเป็นน้ำ) 4 ครั้งขึ้นไปภายใน 24 ชั่วโมง และอาการไม่ทุเลาลงหลังรับประทานยา
    • ไม่ถ่ายอุจจาระหรือไม่ผายลมมานานกว่า 2 ถึง 3 วัน
    • มีเลือดในปัสสาวะ อุจจาระ อาเจียน (อ้วก) หรือเมื่อไอ
ทีมดูแลพร้อมช่วยเหลือคุณตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน ทีมจะช่วยคุณในการดูแลรักษาอาการข้างเคียงจากการรักษา

อาการข้างเคียงที่อาจพบได้หลังได้รับยาเคมีบำบัด

พยาบาลของคุณจะอธิบายข้อมูลเหล่านี้ให้คุณฟัง และบอกคุณว่าอาการข้างเคียงใดบ้างที่อาจเกิดกับคุณ คุณอาจมีอาการข้างเคียงต่อไปนี้บางอาการ ทุกอาการ หรืออาจไม่มีเลยก็ได้

อ่อนเพลีย

อาการอ่อนเพลียคือการรู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนแรง และเหมือนกับว่าไม่มีเรี่ยวแรงอย่างผิดปกติ อาการอ่อนเพลียหลังได้รับยาเคมีบำบัดอาจเป็นได้ตั้งแต่รู้สึกเหนื่อยล้าเล็กน้อย ไปจนถึงเหนื่อยล้าเป็นอย่างมาก อาการอ่อนเพลียอาจเริ่มเป็นอย่างรวดเร็วหรือค่อย ๆ เป็นมากขึ้นก็ได้

จะดูแลรักษาอาการนี้ได้อย่างไร

  • หากคุณรู้สึกเหนื่อยล้า ให้พักผ่อน คุณอาจงีบหลับเป็นระยะเวลาสั้นๆ ประมาณ 15 ถึง 20 นาทีได้ การงีบหลับเป็นระยะเวลาสั้น ๆ จะช่วยให้คุณจัดการกับอาการอ่อนเพลียระหว่างวันได้ การงีบหลับเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ยังช่วยให้คุณนอนหลับตอนกลางคืนได้ดียิ่งขึ้นด้วย
  • พยายามไม่อยู่นิ่งเพื่อช่วยให้มีเรี่ยวแรงมากขึ้น เช่น ออกไปเดินเล่นข้างนอกหรือเดินบนลู่วิ่ง ผู้ที่ออกกำลังกายเบา ๆ (เช่น การเดิน) จะอ่อนเพลียน้อยกว่าและสามารถรับมือกับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดได้ดีกว่า สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีจัดการอาการอ่อนเพลียด้วยการออกกำลังกาย โปรดศึกษา Managing Cancer-Related Fatigue with Exercise
  • วางแผนที่จะทำงานหรือกิจกรรมในวันและเวลาที่คุณรู้ว่าจะมีเรี่ยวแรงมากกว่า
  • อย่ากลัวที่จะขอความช่วยเหลือ ขอความช่วยเหลือจากครอบครัวและเพื่อนของคุณในเรื่องงานหรือกิจกรรมที่ทำให้คุณรู้สึกเหนื่อยล้า
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ ดื่มเครื่องดื่มที่ไม่มีคาเฟอีนวันละ 8 ถึง 10 แก้ว (ขนาดประมาณ 237 มล.ต่อแก้ว) ตัวเลือกที่ดี ได้แก่ น้ำเปล่า น้ำผลไม้เจือจาง (ผสม) กับน้ำ หรือเครื่องดื่ม เกลือแร่ (เช่น Pedialyte®, Gatorade®, Powerade® หรือเครื่องดื่มเกลือแร่อื่นๆ)

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีจัดการอาการอ่อนเพลีย โปรดศึกษา Managing Cancer-Related Fatigue และรับชมวีดีโอที่ตอนเริ่มต้นของส่วนนี้

คลื่นไส้ อาเจียน หรือเบื่ออาหาร

ยาเคมีบำบัดบางชนิดสามารถทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ (ความรู้สึกพะอืดพะอมเหมือนจะอาเจียน) และอาเจียน (อ้วก) ได้ เนื่องจากยาเคมีบำบัดไปรบกวนส่วนของสมองที่กำกับเรื่องการอาเจียน หรือเซลล์ที่บุผนังปาก ลำคอ กระเพาะ และลำไส้ของคุณ

จะดูแลรักษาอาการนี้ได้อย่างไร

  • รับประทานยาแก้คลื่นไส้ตามคำแนะนำของแพทย์
  • ดื่มเครื่องดื่มวันละ 8 ถึง 10 แก้ว (ขนาดประมาณ 237 มล.ต่อแก้ว) เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ (การสูญเสียของเหลวจากร่างกายมากกว่าปกติ) ตัวเลือกที่ดี ได้แก่ น้ำเปล่า น้ำผลไม้เจือจาง (ผสม) กับน้ำ หรือเครื่องดื่มเกลือแร่ (เช่น Pedialyte, Gatorade, Powerade หรือเครื่องดื่มเกลือแร่อื่นๆ )
  • อย่าดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน (เช่น ชา กาแฟ และน้ำอัดลม)
  • รับประทานอาหารโดยแบ่งเป็นมื้อละน้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง ทำเช่นนี้ตลอดวันขณะตื่น
  • อย่ารับประทานอาหารมัน (เช่น ของทอด)
  • รับการรักษาด้วยการกดจุด การกดจุดคือศาสตร์การรักษาเก่าแก่ที่มีพื้นฐานมาจากการฝังเข็มซึ่งเป็นการแพทย์แผนจีนดั้งเดิม การกดจุดเป็นการออกแรงกดที่บริเวณเฉพาะต่าง ๆ บนร่างกายของคุณ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีใช้การกดจุดเพื่อลดอาการคลื่นไส้และอาเจียน โปรดศึกษา Acupressure for Nausea and Vomiting

โปรดติดต่อแพทย์ของคุณในกรณีต่อไปนี้:

  • อาเจียน 3 ถึง 5 ครั้ง ภายใน 24 ชั่วโมง
  • อาการคลื่นไส้ไม่ดีขึ้นหลังจากรับประทานยาแก้คลื่นไส้แล้ว
  • ไม่สามารถดื่มน้ำได้โดยไม่มีอาการอาเจียน
  • รู้สึกหน้ามืดหรือวิงเวียน (คล้ายจะเป็นลม)
  • แสบร้อนกลางอกหรือปวดท้อง

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีจัดการอาการคลื่นไส้และอาเจียนระหว่างรับยาเคมีบำบัด โปรดศึกษา Managing Nausea and Vomiting และรับชมวีดีโอที่ตอนเริ่มต้นของส่วนนี้

ท้องผูก

อาการท้องผูก คือการถ่ายอุจจาระน้อยครั้งกว่าปกติ มีอุจจาระแข็ง ขับถ่ายอุจจาระลำบาก หรือทั้งสามอย่าง เป็นอาการข้างเคียงที่พบได้บ่อยของยาที่ใช้รักษาอาการปวดและอาการคลื่นไส้ ยาเคมีบำบัดบางชนิดสามารถทำให้เกิดอาการท้องผูกได้เช่นกัน

จะดูแลรักษาอาการนี้ได้อย่างไร

  • รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง ผลไม้ ผัก ธัญพืชเต็มเมล็ด พรุน และน้ำพรุนเป็นอาหารที่มีกากใย
  • ดื่มเครื่องดื่มวันละ 8 แก้ว (ขนาดประมาณ 237 มล.ต่อแก้ว) ถ้าทำได้
  • เดินเล่นหรือออกกำลังกายเบา ๆ ถ้าทำได้
  • หากจำเป็น ให้ซื้อยาจากร้านขายยา (ยาที่ซื้อได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งยา) เพื่อรักษาอาการท้องผูกของคุณ ยาชนิดหนึ่งเป็นยาที่ทำให้อุจจาระของคุณนิ่มลง (เช่น Colace®) ซึ่งทำให้สิ่งขับถ่ายจากลำไส้นิ่มขึ้นและขับถ่ายได้ง่ายขึ้น ยาอีกชนิดคือยาระบาย (เช่น Senokot® หรือ MiraLAX®) ที่ช่วยให้คุณขับถ่ายได้ แพทย์ของคุณจะบอกได้ว่าควรรับประทานยาเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน

โปรดติดต่อแพทย์ของคุณในกรณีต่อไปนี้:

  • ไม่ถ่ายอุจจาระหรือไม่ผายลมมานานกว่า 2 ถึง 3 วัน
  • มีอุจจาระแข็งมานานกว่า 2 ถึง 3 วัน
  • ขับถ่ายอุจจาระลำบากมานานกว่า 2 ถึง 3 วัน

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีจัดการอาการท้องผูก โปรดศึกษาจาก Managing Constipation และรับชมวีดีโอที่ตอนเริ่มต้นของส่วนนี้

ท้องเสีย

อาการท้องเสียคือการถ่ายอุจจาระเหลวหรือเป็นน้ำ มีการถ่ายอุจจาระมากกว่าปกติ หรือทั้งสองอย่าง ยาเคมีบำบัดบางชนิดสามารถทำให้เกิดอาการท้องเสียได้

จะดูแลรักษาอาการนี้ได้อย่างไร

  • ดื่มเครื่องดื่มวันละ 8 ถึง 10 แก้ว (ขนาดประมาณ 237 มล.ต่อแก้ว) อย่าลืมดื่มทั้งน้ำเปล่าและเครื่องดื่มเกลือแร่ (เช่น Gatorade, Pedialyte, น้ำซุป หรือน้ำผลไม้)
  • หากจำเป็น ให้ซื้อยาแก้ท้องเสียจากร้านขายยา เช่น loperamide (Imodium®) เว้นแต่แพทย์ของคุณจะสั่งห้าม
  • อย่ารับประทานยาที่ทำให้อุจจาระนิ่มลงหรือยาระบายเป็นเวลาอย่างน้อย 12 ชั่วโมง หรือจนกว่าคุณจะหยุดถ่ายเหลว
  • หลีกเลี่ยงสิ่งต่อไปนี้:
    • อาหารรสเผ็ด (เช่น ซอสที่มีรสเผ็ด ยำ พริก และอาหารประเภทแกงเผ็ด)
    • อาหารที่มีกากใยสูง (เช่น ขนมปังหรือซีเรียลธัญพืชเต็มเมล็ด ผลไม้สดและแห้ง และถั่วต่าง ๆ)
    • อาหารที่มีไขมันสูง (เช่น เนย น้ำมัน ซอสที่มีครีม และอาหารทอด)
    • เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน (เช่น ชา กาแฟ และน้ำอัดลมบางชนิด)
  • รับประทานอาหารอ่อนรสจืดที่มีกากใยน้อย (เช่น ขนมปังขาว พาสต้า ข้าว หรืออาหารที่ทำจากแป้งขาวหรือแป้งขัดขาว) ในปริมาณน้อย รับประทานอาหารที่อุณหภูมิห้อง
  • รับประทานอาหารตามสูตร BRATY รับประทานกล้วย (ฺBanana, B) ข้าว (Rice, R) ซอสแอปเปิ้ล (Applesauce, A) ขนมปังขาวปิ้ง (White Toast, T) และโยเกิร์ต (Yogurt, Y)

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีจัดการอาการท้องเสียและอาหารที่คุณควรหรือไม่ควรรับประทาน โปรดศึกษา Managing Diarrhea

โปรดติดต่อแพทย์ของคุณในกรณีต่อไปนี้:

  • ถ่ายเหลว หรือถ่ายเป็นน้ำ 4 ครั้งขึ้นไปภายใน 24 ชั่วโมง และอาการไม่ทุเลาลงหลังรับประทานยา
  • ปวดหรือปวดเกร็งในท้อง ร่วมกับมีอาการท้องเสีย
  • อาการท้องเสียไม่ทุเลาลงหลังจากรับประทานอาหารตามสูตร BRATY มาแล้ว 2 วัน
  • มีอาการแสบบริเวณรอบรูทวาร (รูที่อุจจาระออกมาจากร่างกาย) หรือส่วนปลายลำไส้ตรง (ที่พักอุจจาระ) ซึ่งไม่หายขาด
  • มีเลือดในอุจจาระ

ภาวะเยื่อบุอักเสบ

ยาเคมีบำบัดบางชนิดสามารถทำให้เกิดภาวะเยื่อบุอักเสบได้ ภาวะเยื่อบุอักเสบคือการที่ปาก หรือลิ้น หรือริมฝีปากของคุณแดง บวม กดเจ็บ หรือรู้สึกเจ็บแสบ คุณอาจเริ่มมีอาการได้ภายใน 3 ถึง 10 วันหลังรับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดครั้งแรก

จะดูแลรักษาอาการนี้ได้อย่างไร

  • บ้วนปากทุก 4 ถึง 6 ชั่วโมง หรือบ่อยกว่านั้นตามต้องการ ใช้น้ำยาบ้วนปากที่ไม่มีแอลกอฮอล์หรือผสมน้ำยาบ้วนปากเอง สามารถผสมน้ำยาบ้วนปากเองโดยผสมเกลือ 1 ถึง 2 ช้อนชากับน้ำ 1 ลิตร (ประมาณ 4 แก้ว)
    • กลั้วปากด้วยน้ำยาบ้วนปากหรือน้ำยาบ้วนปากที่ผสมเอง กลั้วให้ทั่วปากนาน 15 ถึง 30 วินาที จากนั้นจึงบ้วนทิ้ง อย่ากลืน
    • อย่าใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีแอลกฮอล์หรือไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ สารเหล่านั้นสามารถทำให้อาการเจ็บแสบของคุณเป็นมากขึ้นได้ ใช้น้ำยาบ้วนปากที่ปราศจากแอลกอฮอล์หรือน้ำตาล (เช่น Biotène® PBF Oral Rinse หรือ BetaCell™ Oral Rinse)
  • ใช้แปรงสีฟันแบบนิ่มสำหรับแปรงฟันและเหงือกของคุณ
  • อย่ารับประทานอาหารที่เป็นกรด (เปรี้ยว) เค็ม หรือเผ็ด
  • อย่าสูบบุหรี่หรือใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบ
  • อย่ารับประทานอาหารที่ยังร้อนอยู่
  • ทาลิปมันเพื่อรักษาริมฝีปากของคุณให้ชุ่มชื้น
  • สอบถามแพทย์ของคุณว่าคุณสามารถอมน้ำแข็งได้หรือไม่ การอมน้ำแข็งเป็นกระบวนการใช้ความเย็นจัดทำลายเนื้อเยื่อ

โปรดติดต่อแพทย์ของคุณในกรณีต่อไปนี้:

  • มีอาการเจ็บแสบในปากบ่อย ๆ
  • เจ็บปวดเมื่อรับประทานอาหารหรือกลืน
  • ไม่สามารถดื่มน้ำได้มากพอต่อการดูแลให้ร่างกายมีสารน้ำเพียงพอได้

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีจัดการอาการเจ็บปาก โปรดศึกษา Mouth Care During Your Cancer Treatment

ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง

ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงอาจเกิดจากการมีจำนวนเม็ดเลือดขาวลดลง การมีจำนวนเม็ดเลือดขาวลดลงคือการที่คุณมีจำนวนเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิล (Neutrophil) ในเลือดลดลง นิวโทรฟิลเป็นเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่ช่วยร่างกายต่อสู้กับการติดเชื้อ การมีจำนวนเม็ดเลือดขาวลดลงมักมีสาเหตุมาจากยาเคมีบำบัด

เมื่อคุณมีจำนวนเม็ดเลือดขาวลดลง คุณจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น คำแนะนำต่อไปนี้จะช่วยให้คุณไม่มีการติดเชื้อ โปรดทำตามคำแนะนำต่อไปนี้จนกว่าจำนวนเม็ดเลือดขาวนิวโทรฟิลในเลือดของคุณจะกลับสู่ช่วงปกติ

จะดูแลรักษาอาการนี้ได้อย่างไร

  • อย่าอยู่ใกล้ผู้ที่ป่วย
  • ล้างมือด้วยสบู่และน้ำนานอย่างน้อย 20 ถึง 30 วินาที
  • ลูบน้ำยาทำความสะอาดมือที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เป็นหลักให้ทั่วทุกส่วนของมือ ถูมือของคุณเข้าด้วยกันเป็นเวลาอย่างน้อย 20 ถึง 30 วินาที หรือจนกว่ามือจะแห้ง
  • อย่าลืมล้างมือของคุณให้สะอาดอยู่เสมอ:
    • ก่อนรับประทานอาหารแต่ละมื้อ
    • หลังจากสัมผัสสิ่งที่อาจมีเชื้อโรค (เช่น หลังใช้ห้องน้ำ จับลูกบิดประตู หรือจับมือผู้อื่น)
  • อาบน้ำด้วยน้ำยาทำความสะอาดผิวหนังที่ฆ่าเชื้อได้ซึ่งมีสารละลายคลอเฮกซิดีนกลูโคเนตความเข้มข้น ร้อยละ 4 (4% Chlorhexidine gluconate หรือ CHG) (เช่น Hibiclens®) ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ของคุณ

โปรดติดต่อแพทย์ของคุณในกรณีต่อไปนี้:

  • มีไข้ 38° C ขึ้นไป
  • ตัวสั่นหรือมีภาวะหนาวสั่น
  • เริ่มมีอาการหรืออาการแสดงของภาวะติดเชื้อ เช่น:
    • รอยแดง บวม ร้อน หรือมีหนองบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ หรือแผลผ่าตัด หรือที่ตำแหน่งใส่สายสวน
    • อาการไอที่เกิดขึ้นใหม่
    • เจ็บคอ
    • ปัสสาวะแสบขัด

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการที่จะช่วยให้ไม่ติดเชื้อ โปรดศึกษา Hand Hygiene and Preventing Infection และ Neutropenia (Low White Blood Cell Count)

มีความเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกมากขึ้น

หลังรับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด คุณอาจมีจำนวนเกล็ดเลือด (จำนวนของเกล็ดเลือดในเลือดของคุณ) ต่ำเป็นเวลา 10 ถึง 14 วัน จำนวนเกล็ดเลือดต่ำทำให้ร่างกายของคุณมีความสามารถในการหยุดเลือดหรือยับยั้งการเกิดรอยช้ำได้น้อยลง

จะดูแลรักษาอาการนี้ได้อย่างไร

  • ใช้แปรงสีฟันแบบนิ่มสำหรับแปรงฟันและเหงือกของคุณ
  • ระมัดระวังไม่ให้เกิดสิ่งต่อไปนี้:
    • เกิดรอยบาดจากของมีคม รอยข่วน หรือรอยถลอก
    • กระแทกเข้ากับสิ่งของหรือชนสิ่งของโดยไม่ได้ตั้งใจ
    • สะดุดและหกล้ม
  • หากคุณต้องโกนหนวด ให้ใช้มีดโกนไฟฟ้าเท่านั้น
  • อย่าทำกิจกรรมที่อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บ
  • ห้ามใช้สิ่งต่อไปนี้:
    • ยาเหน็บทางทวารหนัก (เม็ดยาลักษณะแข็งที่สอดเข้าผ่านรูทวารและละลาย)
    • การสวนอุจจาระ (ใส่ของเหลวเข้าไปในลำไส้ตรงผ่านรูทวารของคุณเพื่อกระตุ้นให้ถ่ายอุจจาระ)

โปรดติดต่อแพทย์ของคุณในกรณีต่อไปนี้:

  • มีเลือดในปัสสาวะ ในอุจจาระ ในอาเจียน หรือเมื่อไอ
  • อุจจาระสีเข้มมาก หรือเป็นสีดำ
  • มีรอยฟกช้ำ หรือเลือดออกจากจมูกหรือเหงือกโดยไม่ทราบสาเหตุ (ผิดปกติ)
  • การมองเห็นเปลี่ยนแปลงไป
  • ปวดศีรษะอย่างรุนแรงหรือมีอาการใดก็ตามของโรคหลอดเลือดสมอง เช่น ร่างกายซีกใดซีกหนึ่งอ่อนแรง

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีลดความเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกของคุณ โปรดศึกษา About Your Low Platelet Count

ผมบางหรือผมร่วง

ยาเคมีบำบัดบางชนิดสามารถทำให้ผมร่วงได้ ผมมักเริ่มร่วงภายในเวลาประมาณ 2 ถึง 4 สัปดาห์หลังรับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดครั้งแรก หากคุณผมร่วง ผมของคุณจะเริ่มกลับมางอกใหม่ในเวลาสองสามเดือนหลังจากการรับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดครั้งสุดท้าย ผมที่งอกใหม่อาจมีสีหรือผิวสัมผัสที่เปลี่ยนไป

จะดูแลรักษาอาการนี้ได้อย่างไร

  • หากคุณไว้ผมยาว คุณอาจต้องการตัดผมให้สั้นก่อนเริ่มการรักษา
  • สระผมและใส่ครีมนวดผมทุก 2 ถึง 4 วัน ใช้แชมพูสระผมของเด็ก หรือแชมพูสระผมสูตรอ่อนโยนอื่น ๆ และครีมนวดผม
  • ใช้แชมพูสระผมและครีมนวดผมที่มีส่วนผสมของสารป้องกันแสงแดด ซึ่งจะช่วยป้องกันความเสียหายต่อหนังศีรษะของคุณจากแสงแดด
  • อย่าให้หนังศีรษะโดนแสงแดด คลุมศีรษะของคุณไว้ในช่วงฤดูร้อน
  • ในช่วงฤดูหนาว ให้คลุมศีรษะของคุณด้วยหมวก ผ้าพันคอ ผ้าโพกหัว หรือใส่วิกผมเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ศีรษะ ซึ่งจะช่วยกักเก็บเส้นผมที่หลุดร่วงได้อีกด้วย
  • ใช้ปลอกหมอนที่ทำจากผ้าซาตินหรือผ้าไหม ผ้าทั้งสองอย่างนี้นุ่มลื่นกว่าผ้าประเภทอื่นและสามารถลดการพันกันของเส้นผมได้
  • สอบถามแพทย์ของคุณว่าคุณสามารถใช้การรักษาโดยการลดอุณหภูมิหนังศีรษะ (โดยใช้หมวกเย็น) ได้หรือไม่ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดศึกษา Managing Hair Loss with Scalp Cooling During Chemotherapy for Solid Tumors

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผมร่วงระหว่างการรักษามะเร็งของคุณ โปรดศึกษา Hair Loss and Your Cancer Treatment

ความผิดปกติของเส้นประสาท (ชา หรือเป็นเหน็บที่มือและเท้า)

ยาเคมีบำบัดบางชนิดสามารถส่งผลต่อเส้นประสาทที่มือและเท้าของคุณได้ คุณอาจเริ่มมีอาการชาหรือเหน็บ (ความรู้สึกคันยุบยิบหรือเหมือนถูกทิ่มแทง) ที่นิ้วมือ นิ้วเท้าของคุณ หรือทั้งสองอย่าง อาการนี้อาจเป็นอยู่เพียงระยะเวลาสั้น ๆ หรือตลอดชีวิตของคุณเลยก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าคุณรับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดนานแค่ไหน แพทย์ของคุณสามารถสั่งจ่ายยา หรือเปลี่ยนขนาดยาเคมีบำบัดของคุณเพื่อช่วยลดอาการดังกล่าวได้

จะดูแลรักษาอาการนี้ได้อย่างไร

  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ (จัดกิจวัตรการออกกำลังกายไว้)
  • หากสูบบุหรี่ ให้เลิกสูบบุหรี่
  • อย่าดื่มแอลกอฮอล์เป็นปริมาณมาก
  • สวมใส่ถุงมือและถุงเท้าเมื่ออากาศหนาว
  • ระมัดระวังอย่างมากเมื่อใช้เตา ไมโครเวฟ หรือเตารีดไม่ให้โดนความร้อนลวก คุณอาจจะไม่สามารถรู้สึกถึงความร้อนได้เท่าที่เคย
  • ใส่รองเท้าที่มั่นคงและเดินอย่างระมัดระวังหากเท้าของคุณมีอาการเป็นเหน็บหรือชา
  • เข้ารับการฝังเข็ม การฝังเข็มเป็นรูปแบบหนึ่งของการแพทย์แผนจีนดั้งเดิม เป็นการใช้เข็มที่บางมากปักตามบริเวณต่าง ๆ บนร่างกายของคุณ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดศึกษา About Acupuncture

โปรดติดต่อแพทย์ของคุณในกรณีต่อไปนี้:

  • มีอาการเหน็บชามากยิ่งขึ้น
  • มีความยากลำบากในการหยิบจับวัตถุที่มีขนาดเล็ก (เช่น จับปากกา หรือติดกระดุมเสื้อ)
  • ปวด แสบ ชา หรือเป็นเหน็บที่นิ้วมือ นิ้วเท้า หรือทั้งสองอย่าง
  • มีปัญหาในการเดิน หรือการรู้สึกถึงพื้นขณะเดิน

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับความผิดปกติของเส้นประสาท โปรดศึกษา Neuropathic Pain, About Peripheral Neuropathy, และ Managing Peripheral Neuropathy

การเปลี่ยนแปลงที่ผิวหนังและเล็บ

ยาเคมีบำบัดบางชนิดสามารถทำให้ผิวหนังของคุณเปลี่ยนแปลงได้ ผิว เล็บ ลิ้น และเส้นเลือดดำของคุณอาจมีสีเข้มขึ้นได้เมื่อคุณรับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด คุณอาจมีการเปลี่ยนแปลงทั่วไปเกิดขึ้นกับผิวหนังได้เช่นกัน เช่น ผิวแห้ง และคัน เล็บของคุณอาจบางและเปราะ และอาจแตกได้

จะดูแลรักษาอาการนี้ได้อย่างไร

  • ดูแลมือและเท้าให้ชุ่มชื้นเสมอ ใช้ครีมหรือขี้ผึ้งที่ปราศจากน้ำหอม (เช่น Eucerin®, CeraVe®, หรือ Aquaphor®)
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับแสงแดดโดยตรง อย่าให้หนังศีรษะหรือร่างกายถูกแสงแดด ใส่หมวกปีกกว้าง กางเกงสีอ่อน และเสื้อแขนยาว
  • ใช้ครีมกันแดดที่มี SPF 30 ขึ้นไปทุกวัน
  • ตัดเล็บให้สั้นและขอบเรียบมนอยู่เสมอ
  • สวมใส่ถุงมือเมื่อทำสวน ทำความสะอาด หรือล้างจาน
  • สอบถามแพทย์ของคุณว่าคุณสามารถใช้การรักษาเล็บด้วยความเย็นได้หรือไม่ การรักษาเล็บด้วยความเย็นคือการใช้ถุงน้ำแข็งประคบมือ เท้า หรือทั้งสองอย่าง ซึ่งจะช่วยลดการเปลี่ยนแปลงที่เล็บของคุณระหว่างรับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดได้

โปรดติดต่อแพทย์ของคุณในกรณีต่อไปนี้:

  • ผิวหนังของคุณลอกหรือพุพอง
  • มีผื่นขึ้น
  • มีก้อนหรือตุ่ม (รอยนูน) ที่ผิวหนัง
  • หนังกำพร้าหุ้มรากเล็บ (ชั้นผิวหนังที่อยู่ตรงขอบล่างของเล็บ) ของคุณกลายเป็นสีแดงและเจ็บปวด
  • เล็บของคุณลอก (เผยอขึ้นจากพื้นเล็บ) หรือมีของเหลวไหลซึมออกมาจากใต้เล็บของคุณ

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของเล็บ โปรดศึกษา Nail Changes During Treatment และ Nail Cooling During Treatment with Taxane-based Chemotherapy

รู้สึกไวต่อความเย็น

ภาวะรู้สึกไวต่อความเย็นคืออาการชา เหน็บ (ความรู้สึกคันยุบยิบหรือเหมือนถูกทิ่มแทง) หรือเป็นตะคริวที่มือหรือเท้า คุณอาจรู้สึกเหมือนเป็นเหน็บที่ริมฝีปากและลิ้น หรือมีการกระตุก (เขม่น) ที่คอและขากรรไกรได้ด้วย ในบางคนจะมีการรับสัมผัส (ความรู้สึก) ผิดปกติที่ลิ้นได้ เช่นรู้สึกว่าลิ้นหนักและขยับยาก ทำให้อาจพูดไม่ชัดได้

ภาวะรู้สึกไวต่อความเย็นเกิดจากอุณหภูมิเย็น เช่น อากาศเย็น อาหารเย็น และเครื่องดื่มเย็น

ภาวะรู้สึกไวต่อความเย็นมักจะดีขึ้นหรือหายไปเองในช่วงระหว่างการรับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดแต่ละครั้ง ยิ่งรักษาหลายครั้ง ก็อาจใช้เวลานานมากขึ้นกว่าจะหาย

จะดูแลรักษาอาการนี้ได้อย่างไร

  • หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มเย็น
  • ปิดจมูกและปากของคุณเมื่ออยู่ข้างนอกในอากาศหนาวเพื่อที่จะได้ไม่ต้องหายใจเอาอากาศเย็นเข้าสู่ร่างกาย
  • ใส่ถุงมือเมื่ออยู่ข้างนอกในอากาศหนาวหรือหยิบจับของเย็น
  • อย่าใช้แผ่นทำความร้อนหรือแผ่นประคบร้อน คุณอาจจะไม่สามารถรู้สึกถึงความร้อนได้เท่าที่เคยและอาจลวกตัวเองได้

การอัปเดตครั้งล่าสุด

พฤหัสบดี, มีนาคม 23, 2023